วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

ประวัติการละครไทย

ประวัติละคร           
 1.สมัยน่านเจ้า              
 เรื่องการละครและนาฏศิลป์ไทย จากการค้นคว้าหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า สมัยเมื่อไทยอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้า ไทยมีนิยายเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง “มโนห์รา” ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่ หนังสือที่เขียนบรรยายถึงเรื่องของชาวจีนตอนใต้ และเขียนถึงนิยายการเล่นต่างๆ ของจีนตอนใต้ มีอยู่เรื่องหนึ่งชื่อเหมือนกับนิยายของไทย คือเรื่อง “นามาโนห์รา” และอธิบายไว้ด้วยว่าเป็นนิยายของพวกไต ซึ่งจีนถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน ไตเป็นน่านเจ้าสมัยเดิม คำว่า “นามาโนห์รา” นั้น เพี้ยนไปเป็น “นางมโนห์รา”ที่ไทยเรารู้จักกันดีนั่นเอง                
คำว่า “นา” นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “นาง” จีนปัจจุบันนี้เรียกผิดไป จึงเรียกว่า “นามาโนห์รา” เป็นเรื่องที่น่าดีใจว่าคนไทยสมัยน่านเจ้านั้นต้องรู้เรื่องนางมโนห์ราเป็นแน่  ปัจจุบันนี้ในภาคใต้ของจีนนั้นยังมีคนไทยที่รู้จักเรื่องมโนห์รานี้ดี ส่วนชื่อเรียกนั้นอาจจะเพี้ยนไปบ้าง  
พวกไต คือไทยเรานี้เอง แต่เป้นพวกที่ไม่อพยพลงมาจากดินแดนเดิม ชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกนี้มีแบบอย่างเหมือนชาวเหนือของไทย ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ไทยพวกนี้สืบเชื้อสายมาจากน่านเจ้านั่นเอง เหตุแวดล้อมดังกล่าวชวนให้เข้าใจว่าเป็นชาติที่มีศิลปะมาแล้วแต่ดั้งเดิม แม้สมัยเมื่ออยู่ในอาณาจักรน่านเจ้าในการที่นำเอาเรื่องมโนห์รามากล่าว เพราะนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นอมตะ มีการนำมาแสดง เล่านิทานสืบต่อๆ กันมาเป็นระยะเวลาเกือบพันๆ ปี               
 การละเล่นของไทยสมัยน่านเจ้า นอกจากเรื่องมโนห์ราแล้ว ยังมีการแสดงระบำต่างๆ เช่น ระบำหมวก ระบำนกยูง ซึ่งปัจจุบันจีนถือว่าเป็นการละเล่นของชนกลุ่มน้อยในประเทศของเขา ซึ่งหมายถึงพวกไต ตำนานของชาวจีนที่พิมพ์เผยแพร่ในเรื่องวัฒนธรรม ได้เขียนเรื่องราวของมโนห์ราออกเผยแพร่ ซึ่งความจริงก็เป็นของไทยเรานั่นเอง               
 พวกไทยที่อพยพลงมาได้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมไว้อย่างเดียวกับไทยภาคเหนือมีหมู่บ้านไทยอยู่ทางทิศตะวันออกของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ฝรั่งเรียกว่า “สวนมรกต” มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่าน ออกเสียงแบบไทยว่า “แล่นชน” หรือ “ล้านช้าง”                
เป็นเรื่องที่ชาวไทยทุกคนควรภูมิใจว่า ชาติไทยเรานี้มีการละครและการละเล่นมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์                
สรุปได้ว่า สมัยน่านเจ้ามีการแสดงแบบการละเล่น ได้แก่ ระบำหมวก ระบำนกยูง และไทยน่านเจ้ารู้จักเรื่องมโนห์ราแล้ว นับว่าละครเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกของไทย และมีความเป็นอมตะ มีตำราหลายเล่มสันนิษฐานว่า ละครรำพึ่งจะเกิดมีขึ้นมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ผู้เรียบเรียงมีความเห็นว่า เรื่องมโนห์รามีมานานแล้ว ตั้งแต่ไทยยังมีอาณาจักรเป็นปึกแผ่นในดินแดนซึ่งเป็นประเทศจีนอยู่ในบัดนี้ การที่ชาติไทยรบกวนอยู่เรื่อยๆ เป็นระยะๆ ทำให้ศิลปะด้านนี้สูญหายไป เมื่อตั้งตัวได้และบ้านเมืองอยู่ในความสงบก็ฟื้นฟูกันใหม่ 
2.สมัยสุโขทัย               
                     ในสมัยสุโขทัยนี้ เรื่องละคร ฟ้อนรำ สันนิษฐานได้จากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 กล่าวถึงการละเล่นเทศกาลกฐินไว้เป็นความกว้างๆ ว่า “เมื่อจักเข้าเวียงเรียงกัน แต่อรัญญิกพู้นท่านหัวลาน  ดํบงคํกลอยด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมันเหล้น เหล้น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน”                
คำว่า “เลื้อน” คงจะหมายถึงร้องรำหรือร่ายรำมากกว่า เพราะ “ร้อง” เฉยๆ มีคำว่า “ขับ” อยู่แล้ว คำว่า “เลื้อน” จึงน่าจะเป็นการร้องรำซึ่งเป็นการละเล่นแบบพื้นเมือง                
ดํ แปลว่า ดีงาม หรือ บังคม หมายความว่า ประโคม               
 กลอย แปลว่า ร่วม                
ในสมัยสุโขทัยนี้ ได้คบหากับชาติที่นิยมอารยธรรมของอินเดีย เช่น พม่า มอญ ขอม และละว้า ไทยได้รูจักเลือกเฟ้นศิลปวัฒนธรรมที่ดีของชาติที่สมาคมด้วย แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ชาติไทยแต่โบราณจะไม่รู้จักการละครฟ้อนรำมาก่อน เรามีการแสดงประเภทระบำรำเต้นมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เมื่อไทยได้รับวัฒนธรรมด้านการละครของอินเดียเข้ามา  ศิลปะแห่งการละเล่นพื้นเมืองของไทย คือ รำ และระบำ ก็ได้วิวัฒนาการขึ้น มีการกำหนดแบบแผนแห่งศิลปะการแสดงทั้งสามชนิดไว้เป็นที่แน่นอน และบัญญัติคำเรียกศิลปะแห่งการแสดงดังกล่าวแล้วข้างต้นว่า “โขน” ละคร “ฟ้อนรำ”               
 เรื่องละครแก้บนกับละครยก อาจมีสืบเนื่องมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จว่า หญิงแก้วมีจดหมายเล่าว่ามีละครเขมรตรงหน้าปราสาทนครวัด ให้พวกท่องเที่ยวชมในเวลากลางคืน เรื่องนี้เรารู้กันอยู่แล้ว ที่ปราสาทหินเทวสถานแห่งอื่นหลายแห่ง มีเวทีทำด้วยศิลา กล่าวกันว่าทำไว้สำหรับรำบวงสรวง อันการฟ้อนรำบวงสรวง ตลอดจนการเล่นโขน เป็นคติทางศาสนาพราหมณ์ แต่ห้ามทางฝ่ายพระพุทธศาสนา หม่อมฉันได้อ่านหนังสือพรรณนาว่าด้วยเทวสถานในอินเดียว่า แม้ในปัจจุบันเทวสถานที่สำคัญยังมีหญิงสาวชั้นสกุลต่ำๆ ไปสมัครอยู่ใน “เทวทาสี” สำหรับฟ้อนรำบวงสรวงเป็นอาชีพ และให้ใช้ต่อไปว่าสำหรับปฏิบัติพวกพราหมณ์ที่รักษาเทวสถาน หรือแม้บุคคลภายนอกด้วย ตามปราสาทหินที่สำคัญในเมืองเขมรแต่โบราณก็คงมีหญิงพวกเทวทาสี เช่นนั้น หม่อมฉันเห็นว่าประเพณีที่ไทยเราเล่นแก้บน เห็นจะมาจากคติเดียวกันนั้นเอง แต่เลยมาถึงเล่นละครบวงสรวงในพระพุทธศาสนา เมื่อฉันยังเด็ก ได้เคยเห็นละครชาตรีเล่นแก้บนที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และได้ยินว่าที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก็เคยมีละครแก้บนพระพุทธชินสีห์ เพิ่งในสมัยรัชมัยรัชกาลที่ 5 ประเพณีไทยเล่นละครแก้บนแต่ก่อนเห็นจะหยุดชะงัก จึงมีผู้คิดทำตุ๊กตา เรียกว่า “ละครยก” สำหรับตนจนแก้บน ถ้าจะนับเวลาเห็นจะเป็นตั้งพันปีมาแล้ว               
 สมัยสุโขทัยมีการแสดงละครเป็นเรื่องแล้ว ที่แน่นอนคือเรื่องมโนห์รา ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นยังไม่มีการแสดงแพร่หลาย คงนิยมการละเล่นพื้นเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการละเล่นประเภทรำ และระบำ                คำว่า รำกับระบำ เป็นคำเดียวกัน เพราะคำว่ารำแผลงเป็นระบำ รำและระบำนั้นแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ               
 พวกที่ 1 เป็นรำที่ไม่มีเรื่อง ต้องการอวดลวดลายของศิลปะการรำโดยเฉพาะ เช่น รำสีนวล รำกลองยาว รำแม่ศรี เป็นต้น                
พวกที่ 2 เป็นรำที่มีเรื่องประกอบการเล่น เช่น รำพระลอตามไก่ พระรามตามกวาง เป็นต้น
3. สมัยกรุงศรีอยุธยา
                               ละครรำสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มีต้นกำเนิดมาจากการเล่นโนรา และละครชาตรีที่นิยมกันในภาคใต้ของประเทศไทยมมาแต่ก่อน แต่เดิมมีครูละครชื่อ ขุนศรัทธา เป็นครูละครในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วลงไปตั้งคณะละครที่นครศรีธรรมราช เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ละครชาตรีที่ปักษ์ใต้ ก็มาเป็นต้นกำเนิดละครรำในกรุงศรีอยุธยา ส่วนระบำหรือฟ้อนนั้น เป็นศิลปะโดยอุปนิสัยของคนไทยสืบมาแต่เดิม               
 ละครรำของไทยเราที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มี 3 อย่าง คือ ละครชาตรีอย่างหนึ่ง ละครนอก และละครในอีกอย่างหนึ่ง ละครชาตรีเป็นละครเดิม ละครนอกเกิดขึ้นโดยแก้ไขละครชาตรี แต่ละครในคือละครผู้หญิงนั้น เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2199-2231 ยังไม่มีปรากฏว่ามีละครผู้หญิงในหนังสือบุณโณวาทคำฉันท์ ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. 2275-2301 เป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้น ละครผู้หญิงคงเกิดขึ้นในระหว่างรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พ.ศ.2231-2246 มาจนรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือถ้าจะว่าโดยศักราชก็คือ ระหว่าง พ.ศ. 2231-2301 ในระหว่างเวลา 70 ปีนี้ รัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีละครผู้หญิงเริ่มเล่นละครเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นละครใน                
สำหรับละครผู้หญิงของหลวงครั้งกรุงเก่า เห็นจะเป็นของโปรดอยู่เพียงในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตแล้ว ทำนองจะละเลยมิได้ฝึกซ้อมเสมอเหมือนแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จะทอดพระเนตรละคร จึงห้ามหาผู้ชายเข้าไปเล่น เมื่อพิเคราะห์ดูทางตำนาน ดูเหมือนละครผู้หญิงของหลวงซึ่งมีขึ้นครั้งกรุงเก่า จะได้เล่นอยู่ไม่ช้านานเท่าใดนัก ก็ถึงเวลาเสียกรุงแก่พม่า               
 บทละครที่ใช้แสดงกันในสมัยกรุงศรีอยุธยามีอยู่ 22 เรื่อง ดังนี้                
1.การะเกด                                          2.คาวี                3.ไชยทัต                                                 4.อิเหนา                5.พิกุลทอง             6.ไกรทอง                
7.มโนห์รา                                               8.โคบุตร                9.พิมพ์สวรรค์                  
 10.โสวัต                11.พิณสุริยวงศ์                                     12.ไชยเชษฐ์                
13.มณีพิชัย            14.โม่งป่า                15.สังข์ทอง                                            
16.ศิลป์สุริวงศ์                17.สังข์ศิลป์ชัย                                      18.อุณรุฑ                
19.สุวรรณศิลป์                                     20.รามเกียรติ์ (บทพากย์)               
 21.สุวรรณหงส์                                      22.พระรถเสน              
  ส่วนบทละครในนั้น นอกจากเรื่องรามเกียรติ์แล้วก็มีเรื่อง ดาหลัง อิเหนา และอุณรุฑหรืออนิรุทธ์ รวม 4 เรื่อง ที่นิยมแสดงกันมากเห็นจะเป็นเรื่องอุณรุฑกับอิเหนา               
 ในเพลงยาวความเก่า เท้าความถึงการฝึกหัดละครเรื่องอุณรุฑ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า                

มาร่ำเรอให้เป็นที่ศรีสุดา                      ทั้งอุตส่าห์เบือนบิดจริตงาม         
ไปฝึกฝนกันที่ต้นลำไยเก่า                    ข้างลำเนาสรรเพชญประสาทสนาม   

             จากคำกลอนนี้แสดงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้มีการฝึกหัดบทบาทท่ารำตัวนางศรีสุดานางรองในละครเรื่องอุณรุฑกันที่ต้นลำไย ในบริเวณพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทที่กรุงเก่า แสดงให้เห็นว่ามีบทสำหรับเล่นละครเรื่องอุณรุฑอยู่ในสมัยนั้นแล้ว อาจเป็นเพราะบทละครเรื่องอุณรุฑครั้งกรุงเก่า สำนวนเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเสิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งเสด็จดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และประทับอยู่ทีพระราชวังเดิม (ซึ่งเป็นที่บัญชาการกองทัพเรือ) ได้โปรดให้หัดเล่นละครผู้หญิงขึ้นในพระราชวังชุดหนึ่ง และใช้บทละครเรื่องอุณรุฑครั้งกรุงเก่าเป็นบทแสดง แต่ทรงดัดแปลงให้เหมาะสมกับการแสดงตามพระราชหฤทัย ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงกริ้วจนต้องเลิกเพราะมีกฎห้ามไว้แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มิให้เอกชนมีหรือฝึกหัดละครผู้หญิงไว้ในสำนักของตน จะมีได้แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น
                ส่วนบทละครเรื่องอิเหนา มีบทเดิมแต่งขึ้นไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีคำเล่าสืบกันมาว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมีพวกขุนนางข้าหลวงเป็นหญิงแขกมลายูเชื้อสายพวกเชลย ที่ได้มาแต่เมืองปัตตานี ได้เล่านิทานเรื่องอิเหนาถวายเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาของพระองค์ เจาฟ้าหญิงทั้งสองทรงพอพระราชหฤทัยมาก จึงทรงนิพนธ์เรื่องอิเหนาเป็นบทละครขึ้น เจ้าฟ้ากุณฑลทรงนิพนธ์เรื่องดาหลัง เจ้าฟ้ามงกุฎทรงนิพนธ์เรื่องอิเหนา แต่ทั้งเรื่องดาหลังและอิเหนาเป็นเรื่องของวีรบุรุษคนเดียวกัน คนทั้งหลายจึงเรียกว่า อิเหนาใหญ่และอิเหนาเล็ก ซึ่งหมายความว่า อิเหนาของเจ้าฟ้าหญิงใหญ่ และอิเหนาของเจ้าฟ้าหญิงเล็ก               
 เรื่องเจ้าฟ้าหญิงทรงนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาครั้งกรุงเก่าดังกล่าวมานั้น มีบทกลอนกล่าวยืนยันเป็นตำนานแน่นอนว่า อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง สำหรับงานฉลองกองกุศล  ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์แต่เรื่องต้นตกหายพรัดพรายไป                
                   ตามที่กล่าวมาแล้วเป็นหลักฐานแสดงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเคยมีบทละครใหญ่อยู่แล้ว 4 เรื่อง คือ อุณรุฑ รามเกียรติ์ ดาหลัง และอิเหนา                
4.สมัยกรุงธนบุรี
                เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จปราบดาภิเษกในปีชวด พ.ศ. 2311 แล้วก็ทรงพยายามเสาะแสวงหาและรวบนวมศิลปินที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ เข้ามาในราชธานี เพราะการเสียกรุงแก่พม่าข้าศึกในครั้งนั้นที่จริงหาได้เสียสยามประเทศไม่ หัวเมืองมณฑลที่กองทัพพม่าไม่ได้ไปถึง ไทยยังเป็นอิสระอยู่ทุกมณฑล แต่ถึงกระนั้น ธรรมดาของที่เป็นอย่างดีอันมีในประเทศ แม้จนในการละเล่น เช่น ละคร มักจะมีอยู่ในราชธานี เมื่อเสียกรุงแก่พม่าข้าศึก ตัวละครและบทละครครั้งเก่าจึงเป็นอันตรายสูญหายไปมาก ส่วนละครนอกเป็นของราษฎร เล่นกันในพื้นเมืองแพร่หลาย ตัวละครเห็นจะหลบหลีกอยู่ได้อยู่มาก แต่สำหรับผู้แสดงละครในน่าจะเหลืออยู่น้อยมาก เพราะมีแต่ของหลวง สาเหตุที่แบบแผนละครในไม่สาบสูญไปทีเดียว ก็เพราะมีตัวละครหลบหนีไปอยู่ตามหัวเมืองที่ยังมีเป็นสิทธิแก่ไทยได้บ้าง และผู้ที่ได้รู้เห็นหรือมีความรู้ในเรื่องละครใน เช่น เจ้าฟ้า พินทุวดี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นต้น มีพระชนม์อยู่มาจนครั้งกรุงธนบุรี
                สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพยายามรวบรวมตัวละครที่พลัดมาได้หลายคน เมื่อต้นปีฉลู พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยาตราทัพไปปราบปรามก๊กเจ้านครศรีธรรมราช เจ้านครฯกับครอบครัว บ่าวไพร่บริวาร เกรงพระบรมเดชานุภาพหนีไปพึ่งเจ้าเมืองจนะหรือเทพา ก็ตรัสสั่งให้ยกกองทัพติดตามไป จึงปรากฏว่า “พระฤทธิเทวา” เจ้าเมืองรู้ว่ากองทัพยกติดตามมา กลัวพระบารมีจึงส่งตัวให้กับเจ้านครฯ พร้อมด้วยวงศ์วานบ่าวไพร่ อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงด้วย พวกละครที่ทรงได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ว่า “ละครผู้หญิงของเจ้านครฯเป็นพวกละครหลวงที่หนีไปจากกรุงเก่า ไปเป็นครูฝึกหัดขึ้นมาสมทบกับพวกละครที่รวบรวมได้จากที่อื่น จึงหัดละครหลวงขึ้นใหม่ครั้งธนบุรี และครั้งนั้นก็ถือแบบอย่างกรุงเก่า มีละครผู้หญิงแต่โรงเดียว เมื่อละครมาจากนครศรีธรรมราชแล้ว ก็ดูเหมือนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงสนพระทัยในนาฏศิลป์และนาฏยคดียิ่งขึ้น จนถึงทรงพระอุสาหะนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง 4 ตอน ภายหลังเสด็จกลับจากนครศรีธรรมราชเพียงเดือนเดียว และคงจะได้ใช้บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์นี้ ให้คณะละครนำออกแสดงต่อมาอีกหลายครั้งหลายคราว”สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าถึงพระราชอัธยาศัยที่ทรงฝักใฝ่ในการทำนุบำรุงศิลปะทางโขนละครของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์ฯว่า “สังเกตดูโปรดละครมาก ไปตีเมืองฝางได้แล้วยังให้มารับละครผู้หญิงที่เมืองพิษณุโลก ตลอดจนในงามสมโภชพระแก้วมรกตเมื่อปลายรัชกาล เข้าใจว่าเมื่อนำบทตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ออกแสดง คงจะทรงพิจารณาเห็นด้วยพระองค์เองว่า บทที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้นั้นไม่เหมาะแก่การร้องรำของตัวละครอยู่หลายตอน ก็ได้ทรงแก้ไขอยู่ตลอดมา จึงปรากฏเป็นทำนองหมายเหตุอยู่ในฉบับสมุดไทยหลายแห่งว่า “ยังทรามอยู่” บ้าง “พอดี” บ้าง “ทรงแปลงใหม่” บ้าง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า มีพระราชประสงค์จะทรงแก้บทให้เหมาะสมกลมกลืนกับการเล่น การแสดง นอกจากเรื่องรามเกียรติ์แล้ว บทที่ใช้แสดงละครหลวงในครั้งกรุงธนบุรีคงจะมีเรื่องอิเหนาอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ คงใช้แสดงตามบทครั้งกรุงเก่า” 
               สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครในเรื่องรามเกียรติ์ขึ้น 5 ตอน คือ                               
 ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานริน                               
 ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ                               
 ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด (เผารูปเทวดา)                                
ตอนพระลักษมณ์ถูกหอกกบิลพัท                               
 ตอนปล่อยม้าอุปการ
                นอกจากจะทรงพระราชนิพนธ์บทด้วยพระองค์เองแล้ว ดูเหมือนจะทรงกำกับหรือทรงบัญชาการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เองอีกด้วย เมื่อตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทบางตอนให้ละครรำนำไปแสดงอีกด้วย และว่าตอนที่ต้นเสียงและผู้แสดงต้องถูกเฆี่ยนถูกตีกันมากคือตอนถวายลิง มีบทของหนุมานว่า“กลางวันก็ใช้ กลางคืนก็ใช้ นั่งยามตามไฟ ตีเกราะเคา”
                เล่ากันมาว่าต้นเสียงร้องไม่ได้ ถูกเฆี่ยนเสียหนักหนาเอาจนร้องได้ แต่บทตอนถวายลิงนี้ไม่มีต้นฉบับเหลือมาในปัจจุบัน
                ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะฝึกหัดละครหลวงขึ้นมาใหม่อีกหลายคน เพราะตัวละครผู้หญิงครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เหลืออยู่ และมาเป็นครูละครในสมัยกรุงธนบุรีมีเพียงคนเดียวชื่อ จัน ในหนังสือเพลงยาวความเก่าเรียกว่า “จันอุษา” ซึ่งคงจะหมายความว่า หญิงชื่อจันคนนี้ เคยเป็นนางเอกละครหลวงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและเคยแสดงเป็นตัวนางอุษา นางเอกละครในเรื่องอุณรุฑ
                ละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราช                เจ้านครศรีธรรมราช พร้อมด้วยวงศ์วานบ่าวไพร่และคณะละครผู้หญิงอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรีราว 7 ปี ครั้นปีวอก พ.ศ. 2329 เมื่อพระเจ้านราสุริยวงศ์ พระเจ้าหลานเธอในสมเด็จพระจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งครองเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ทิวงคต จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้านครฯเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราช ให้รับพระราชโองการไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้มีละครผู้หญิงเป็นเครื่องประดับ
                ตามแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยา หรือแม้ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้อื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินจะมีละครผู้หญิงขึ้นไว้ในราชสำนักหาได้ไม่ แต่มาในสมัยนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดเจจ้านครศรีธรรมราชมาก ธิดาของเจ้านครฯ ได้เป็นสนมเอกและนางห้าม ครูละครเจ้านครฯ ได้เข้ามาฝึกหัดศิษย์เป็นละครหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้เจ้านครฯ เป็นเจ้าเมืองประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรี และโปรดพระราชทานอนุญาตให้เจ้านครฯ นำละครผู้หญิงคืนไปเป็นเครื่องประดับพระราชอิสริยยศได้อีกตามเดิมแต่เห็นทีจะโปรดละครของเจ้านครฯมาก เมื่อมีงานพิธีหลวง เช่นสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อ พ.ศ. 2322 ก็โปรดให้ละครของเจ้านครฯ เล่นประชันกับละครหลวง
                ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ละครของหลวงนี้ทั้งผู้หญิงผู้ชายไดเคยโปรดให้แสดงแข่งขันในงานสมโภชรับพระแก้วมรกต และเสด็จทอดพระเนตรด้วย ละครผู้หญิง ละครผุ้ชายแสดงคนละข้าง พลับพลาที่ประทับอยู่ตรงกลาง ละครผู้ชายเข้าใจว่าคงจะแสดงละครนอกไม่ใช่ละครใน
                ละครของเอกชนในสมัยกรุงธนบุรีมีหลายโรงด้วยกัน เช่น ละครหลวงวิชิตณรงค์ ละครไทยหมื่นเสนาะภูบาล หมื่นโวหารภิรมย์ นอกจากละครไทยแล้ว ก็ยังมีเรื่องละครเขมร ของหลวงพิพิธวาทีอีกด้วย
                นอกจากละครในกรุงแล้ว ยังมีละครตามหัวเมืองต่างๆ เช่น ที่จังหวัดนครราชสีมา มีศิลปินละครอยู่หลายคน จาสามารถผสมโรงกันเล่นได้
                เมื่อคราวเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้กวาดต้อนคนไทยไปสามหมื่นคน รวมทั้งศิลปินไทยด้วย พม่าให้คนไทยไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สาไก ซึ่งในพระราชพงศาวดารเรียกว่า เมืองจักไก ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับเมืองอังวะ นครหลวงในสมัยนั้น ปรากฏว่าศิลปินไทยในสมัยนั้นได้เป็นครูสอน และให้แบบแผนโขนละครไทยไว้กับประเทศพม่า หนังสือนาฏศิลป์พม่าของ ดร. มอนถิ่นอ่อง ได้รับรองความข้อนี้ไว้ว่า พม่าได้แบบแผนการแสดงละครไทยไปจากไป พร้อมทั้งตัวละครและเรื่องละคร ในชุดนาฏศิลป์ของพม่าที่แสดงอยู่ปัจจุบันนี้ มีระบำชุดหนึ่ง เรียกว่า “ระบำโยเดีย”
                เมื่อ พ.ศ. 2498 รัฐบาลไทยได้ร่วมกับกรมศิลปากร จัดนาฏศิลป์ไทยไปแสดงเจริญสันถวไมตรี ณ ประเทศพม่า ผู้เรียบเรียงขณะนั้นเป็นนักเรียนชั้นสูงปีที่ 2 ของโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปแสดงนาฏศิลป์ไทยที่ประเทศพม่าด้วย ขณะที่แสดงชุดรำแม่บทให้ประชาชนพม่าที่นครย่างกุ้งชม คนแก่คนเฒ่าชาวพม่าอุทานออกมาว่า “เออคราวนี้แหละ ได้ดูรำโยเดียของแท้แล้ว” เพราะชาวพม่าเรียกรำแม่บทของไทยว่า “โยเดีย”
                นอกจากนั้นรัฐบาลของพม่าได้เคยส่งนักเรียนหญิง 2 คน มาฝึกหัดละครและเรียนนาฏศิลป์ไทย ในโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร นับว่านาฏศิลป์ไทยได้แพร่หลายไปถึงประเทศพม่าแน่นอน
                 5.สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
                การเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการเริ่มต้นภายหลังมหาวาตภัยแห่งการสูญเสียกรุงศรีอยุธยา เป็นการสูญเสียพลเมือง ทรัพย์สิน ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์และรากฐานของประเทศ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพยายามก่อกู้ความเจริญด้านศิลปวัฒนธรรม ที่ถูกย่ำยีไปให้คืนสภาพเดิม ซ้ำเมื่อปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังเกิดจลาจลอันเป็นอุปสรรคต่อการก่อกู้ศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ผู้เรียบเรียงจะขอกล่าวไปตามลำดับรัชกาลดังนี้
                สมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325-2352) ได้ทรงฟื้นฟูรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่สูญเสียและกระจัดกระจายให้สมบูรณ์ในรัชสมัยนี้ ได้มีการรวบรวมตำราฟ้อนรำขึ้นไว้เป็นหลักฐานสำคัญที่สุดในประวัติการละครไทย
                พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระปรีชาสามารถในทางศิลปะและวรรณคดีอย่างยิ่งพระองค์หนึ่ง เพราะปรากฏว่าได้ทรงสร้างวรรณคดีเรื่องใหญ่ๆ ขึ้นหลายเรื่อง เรื่องที่เรียกว่าพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 มีความหมายเป็น 2 คือ เรื่องที่โปรดให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการที่เป็นกวีสันทัดทาบทกลอนช่วยกันแต่งถวาย ทรงตรวจแก้ไขแล้วตราเป็นพระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง เพราะเหตุนี้ วรรณคดีที่เรียกว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 จึงอาจแยกออกมาได้ในทางปฏิบัติเป็น 2 ประเภท คือ
                    (1)บทประพันธ์ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์โดยเฉพาะ(2)บทประพันธ์ซึ่งเกิดขึ้นในฐานะทรงเป็นพระประมุขของกวี โดยมีพระราชโองการให้แต่งขึ้นแล้วทรงตรวจแก้ไขรับรองเป็นพระราชนิพนธ์(1)บทประพันธ์ที่เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพรระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโดยแท้จริงนั้น ปรากฏหลักฐานแต่เรื่องเดียวคือ พระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศเรื่อง รบพม่าที่ท่าดินแดง หรือเรียกโดยย่อว่า “นิราศท่าดินแดง” และได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงจารึกศิลาติดไว้ที่ผนังพระโลกนาถ ในบริเวณพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีก 2 บท และมีพระราชปุจฉาเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกหลายเรื่อง
                (2)บทประพันธ์ซึ่งเกิดขึ้นในฐานะทรงเป็นพระประมุขของกวี มีพระราชโองการ หรือทรงของแรงบรรดากวีให้ช่วยกันแต่งขึ้นนั้น เท่าที่ปรากฏมีบทละครเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่อง คือ
                (2.1)บทละครเรื่องอุณรุฑ มีบานแผนกบอกไว้ว่า “ศุภมัสดุ จุลศักราช 1149 ปีมะแม นพศก จตุรมาศ สัตตมกาฬปักษ์ดิถี พุทวารบริจเฉทะ (กาล) กำหนดสมเด็จพระพุทธเจาอยู่หัว อันเสด็จถาวรสวัสดิ์ ปราบดาภิรมย์ ที่นั้งอินทราภิเษกพิมาน ทรงพระราชนิพนธ์รจนาเรื่องอุณรุฑ เสด็จแต่ ณ วัน 3 ปีมะแม นพศก คิดรายวันได้ 5 เดือน กับ 10 วัน บริบูรณ์ คือทรงพระราชนิพนธ์จบเมื่อวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม นพศกตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2330 กรมศิลปากรได้จัดพมพ์จบบริบูรณ์ เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสุวรรณ วิชัยดิษฐ์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2514 เป็นหนังสือบทกลอน ดำเนินความยาว 502 หน้า” 
               (2.2)บทละครเรื่องรามเกียรติ์ มีโคลงบอกไว้ตอนจบว่า 
  เดือนอ้ายสองค่ำขึ้น   จันทวาร               
 บพิตรผู้ทรงญาณ    ยิ่งหล้า                
แรกรินิพนธ์สาร        รามราพณ์ นี้แฮ
 ศักราชพันร้อยห้า       สิบเก้าปีมะเส็งฯ
                จะหมายถึงแรกทรงพระราชนิพนธ์ หรือทรงพระราชนิพนธ์จบเมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะเส็ง นพศก ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2340 บทละครเรื่อรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 มีเรื่องราว ติดต่อกันโดยตลอด และยืดยาวพิสดารยิ่งกว่าบรรดาเรื่องรามเกียรติ์ทุกสำนวนที่มีภาษาไทย เป็นหนังสือบทกลอนดำเนินความยาวถึง 2,976 หน้า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2507 สำนักพิมพ์คลังวิทยาจัดพิมพ์จำหน่าย แบ่งเป็น 4 เล่มจบ
                (2.3)บทละครเรื่องดาหลัง ไม่มีบานแผนก หรือกลอนบอกไว้เช่นเรื่องอุณรุฑ หรือรามเกียรติ์ แต่ท่านผู้รู้เห็นกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 เป็นนิยายประวัติศาสตร์ของชวา คำว่า “ดาหลัง” ของชวา หมายถึง ผู้เชิดหนัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวิรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499 เป็นหนังสือดำเนินความยาว 1,005 หน้า ตามฉบับที่รวมหาได้ในหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร และตามฉบับที่เคยตีพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2433 เข้าใจว่ามีฉบับไม่สมบูรณ์
                (2.4)บทละครเรื่องอิเหนา ได้เนื้อเรื่องมาจากชวาโดยผ่านทางมลายู แต่ทางชวาให้ชื่อว่า ปันหยี บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 นั้น ของไทยมีฉบับไม่สมบูรณ์ เคยจัดพิมพ์เป็นเล่มสมุดขนาดพับ 8 มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง จำนวน 222 หน้าเศษ
                ศิลปะทางโขน ละคร ฟ้อนรำของไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 ต้องรื้อฟื้นกันใหม่ เมื่อประชาชนกลับมาตั้งหลักฐานเป็นปึกแผ่น บรรดาศิลปินทั้งหลายที่หลบภัยหนีภัยไปในที่ต่างๆ ก็กลับมาปรากฏตัวขึ้น ท่านมีกำลังทรัพย์และมีความสามารถของตนเอง ก็ตั้งคณะตั้งโรงเรียนของตนขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ทรงพยายามก่อสร้างความเจริญในด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้นว่า โขน  ละครของหลวงได้โปรดให้ฝึกฝนหัดขึ้นทั้งวังหลวง วังหน้า เว้นแต่ละครผู้หญิงซึ่งเป็นของต้องห้าม มิให้เอกชนมีไว้ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า ละครหลวงจะมีได้แต่ในพระราชวังหลวงแห่งเดียว ส่วนละครที่ฝึกหัดข้างนอกในสมัยนั้นก็มีแต่ละครผู้ชายในสมัยรัชกาลที่ 1 มีละครเล่นมากโรงด้วยกัน แต่ที่ปรากฏชื่อที่สืบทราบได้ต่อมา ได้แก่
  ละครของนายบุญยัง (แสดงละครนอก)                                
ละครของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (ละครใน)                               
 ละครไทยในราชสำนักเขมร                                
ละครผู้หญิงเล่นในราชสำนัก (เล่นละครใน)
                ต่อมาปลายรัชกาลที่ 1 ศิลปินไทยพากันไปสอนและเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยในกัมพูชา เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนานักพระองค์จันทร์ขึ้นเป็นสมเด็จพระอุทัยราชา โปรดให้ครองกรุงกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2349 พระเจ้ากรุงกัมพูชาพระองค์นั้น ได้ครูละครไทยจากกรุงเทพฯ ไปฝึกหัดละครของหลวงขึ้นไว้ในราชสำนักกรุงกัมพูชา
                ละครผู้หญิงนั้นมีได้แต่ในราชสำนักตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า เพราะแต่ก่อนมามีพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้อื่นหัดละครผู้หญิง ด้วยละครผู้หญิงเป็นของแผ่นดิน ทรงมีพระราชดำริให้หัดนางในขึ้นสำหรับเล่นในการพระราชพิธีในพระราชนิเวศน์ เสมออย่างเป็นเครื่องราชูปโภคอันหนึ่ง ซึ่งมีผู้อื่นมิควรทำเทียม และอีกประการหนึ่งเข้าใจว่า เนื่องจากแต่เดิมมามีประเพณีที่เจ้านาย ขุนนาง และผู้ดี นิยมนำลูกสาวไปถวายตัวไว้แต่เยาว์วัย เพื่อรับใช้ราชการในราชสำนัก ดังกล่าวไว้ในเพลงยาวท้ายพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่องไกรทอง ว่า
  เหล่าขุนต่างนางถวายบุตรี                                  ที่มีแต่บุตรชายถวายหลาน                                ปะที่เป็นหมันบุตรกันดาร                                     คิดอ่านไกล่เกลี่ยน้องเมียมา                                ทั้งจีนแขกลาวพวญญวนทวาย                           ต่างถวายลูกเต้าเอาหน้า                                
เขมรมอญขาวชุมพรไชยา                                    ทุกภาษามาพึ่งพระบารมี
                ราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเป็นที่ปลูกฝังศิลปะ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ นาฏศิลป์ในราชสำนัก จึงเป็นของประณีตงดงามกว่าศิลปะที่เป็นอยู่นอกราชสำนัก
                สมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352-2367) ความเป็นไปของตัวละครในสมัยรัชกาลที่ 2 นับว่าเป็นหัวต่อสำคัญในศิลปะทางการละคร เพราะสมัยก่อนนั้น นาฏกรรม เช่น การฟ้อนรำก็ดี การละครก็ดี นิยมเล่นตามแบบแผนกรุงศรีอยุธยา บทละครที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลนี้ ก็เพื่อจะให้มีไว้เป็นแบบฉบับ สำหรับที่จะเป็นสมบัติของชาติอันเป็นหลักสำคัญ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้อย่างไร ครูละครก็ต้องหัดและฝึกซ้อมไปตามนั้น ด้วยเหตุนี้ ละครที่แสดงตามบทพระราชนิพนธ์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงดูชักช้ายืดยาดชวนรำคาญ เพราะมิได้ปรับปรุงวิธีแสดงกับบทละครให้กลมกลืนกัน ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งเคยทรงเป็นกวีร่วมแต่งบทถวายมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และทรงทรงมีคณะละครของพระองค์อยู่ด้วยกัน ย่อมจะทรงทราบแง่เงื่อนของศิลปะทางนี้ได้ดี แต่ที่ไม่สามารถทรงดัดแปลงปรับปรุงตัดบทเสียใหม่ในรัชกาลที่ 1 ด้วยทรงเกรงพระบารมีสมเด็จพระชนกนาถ
                สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นสมัยที่วรรณคดีรุ่งเรือง มีนักปราชญ์กวี และพระองค์ทรงสนพระทัยในการละครอย่างแท้จริง เมื่อพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องใด ก็โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ผู้ทรงรอบรู้ในกระบวนรำนำไปทดลองรำดูก่อน ถ้าตอนใดท่ารำขัดข้องหรือไม่ได้ท่ารำที่งดงาม ก็ทรงแก้ไขบทใหม่ จนกว่าจะกลมกลืนจึงยุติ
                พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรนั้น ได้ทรงศึกษาการแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ทรงฝึกหัดศิลปะการดนตรี และทรงเป็นกวีประจำราชสำนักผู้หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนไว้มากมาย แต่ส่วนมากเป็นบทกลอนประเภทนาฏยคดี มีทั้งบทละครในและบทละครนอก
                บทละครใน ได้แก่                (1)เรื่องอิเหนา ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ตลอดเรื่อ ปรากฏตามฉบับหอพระสมุดฯ ได้ชำระและตีพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อ พ.ศ. 2464 รวม 3 เล่ม มีจำนวน 1,294 หน้า บทละครเรื่องอิเหนานี้ วรรณคดีสโมสรยกย่องว่าเป็นยอดบทละครรำ                (2)เรื่องรามเกียรติ์ ทรงพระราชนิพนธ์ตั้งแต่หนุมานถวายแหวนไปจนถึงทศกัณฐ์ล้มตอนหนึ่ง และตอนฆ่านางสีดาจนถึงอภิเษกไกรลาสอีกตอนหนึ่ง ตามฉบับพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2456 รวม 3 เล่ม มีจำนวน 844 หน้า บรรจุความไว้ประมาณ 12,300 คำกลอน
                บทละครนอก ได้แก่                
(1)เรื่องไกรทอง บรรจุความยาวประมาณ 888 คำกลอน                
(2)เรื่องคาวี บรรจุความยาวประมาณ 1,808 คำกลอน                
(3)เรื่องไชยเชษฐ์ บรรจุความยาวประมาณ 1,426 คำกลอน                
(4)เรื่องสังข์ทอง บรรจุความยาวประมาณ 3,256 คำกลอน                
(5)เรื่องมณีพิชัย บรรจุความยาวประมาณ 500 คำกลอน
                บทละครนอกที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ ทรงเลือกสรรเอาแต่บางตอน โดยตัดทิ้งเรื่องเดิมเสียบ้างดัดแปลงใหม่เสียบ้าง ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เหมาะแก่การแสดงทางละคร ได้ทรงพระอุตสาหะในการปรับปรุงศิลปะละครฟ้อนรำของไทยให้ประณีตกลมกลืนกันเป็นอย่างดี ไพเราะทั้งบทและงดงามทั้งท่ารำ เพราะฉะนั้นศิลปะทางโขน ละคร ฟ้อนรำในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงเป็นศิลปะที่ประณีตงดงามยิ่งกว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน บรรดาศิลปินรุ่นต่อมาจึงพากันยกย่องนับถือเป็นศิลปะแบบครู และรับเอามาเป็นแบบฉบับของศิลปะที่ดีประจำชาติสืบต่อมาตราบทุกวันนี้
                ตัวอย่างกลอน “ชมดง” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 เรื่องรามเกียรติ์ เทียบกลอน “ชมดง” ในบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2
                พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 เรื่องรามเกียรติ์ ตอนสีดาหาย ซึ่งมีกลอน “ชมดง” พระรามรำพึงถึงนางสีดา ว่า
เดินทางในระหว่างบรรพต                                    เลี้ยวลดตามเชิงเขาใหญ่                
เห็นฝูงปักษาคณาใน                                                            อาลัยถึงองค์วนิดา                
นกแก้วจับกิ่งแก้วพลอด                                                       เหมือนเสียงเยาวยอดเสน่หา                สาลิกาจับกรรณิการ์                                                            จำนรรจาเหมือนเจ้าพาที                
แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง                                           เหมือนพี่ร้างห่างห้องมารศรี                
เบญจวรรณจับวัลย์มาลี                                   เหมือนวันเจ้าวอนพี่ให้ตามกวาง                
นกยูงจับจูงโหยหวน                                                              เหมือนพี่โหยหานางแนบข้าง                นกหว้าจับหว้าริมทาง                                                           เหมือนว่านางไม่เชื่อวาจา                นางนวลจับนางนวลนอน                                เหมือนนวลเนื้อนวลสมรเสน่หา                
จากพรากจับจากแล้วร่อนรา                                      เหมือนพี่กับแก้วตาจากกัน                
นกลางจับลางลิงร้อง                                          เหมือนลางเมือพลัดน้องพี่โศกศัลย์               
 ครวญพลางพระเสด็จจรจรัล                                      ทรงธรรม์สะอื้นโศกี 
     พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เรื่องอิเหนา ตอนรำพึงถึงสามนางคราวจากเมืองหมันหยาว่า                ว่าพลางทางชมคณานก                                                       โผนผกจับไม้อึ่งมี่                
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                                                       เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา                นางนวลจับนางนวลนอน                                         เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา                
จากพรากจับจากจำนรรจา                                                  เหมือนจากนางสะการะวาตี                แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง                                             เหมือนพี่ร้องห้องมาหยารัศมี                
นกแก้วจับแก้วพาที                                        เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา               
 ตะเวนไพรร่อนร้องตะเวนไพร                        เหมือนเวรใดให้นิราศเสน่หา               
 เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา                          เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง                
คับแคจับแคสันโดษเดี่ยว                             เหมือนเปล่าเปลี่ยวคับใจในไพรกว้าง                
ชมวิหคนกไม้ไปตามทาง                                        คะนึงนางพลางเร่งโยธี                
             ท่านผู้อ่านแม้มิใช่นักกลอน แต่เมื่ออ่านกลอนพระราชนิพนธ์ 2 บทนี้ ก็อาจทราบได้ทันทีว่า ดำเนินความใกล้เคียงคล้ายคลึงกัน หากแต่บทหลังไพเราะสละสลวยกว่าบทแรก
                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาขึ้นในตอนแรกนั้น ได้โปรดให้ฝึกละครผู้หญิงของหลวงขึ้นในราชสำนักชุดหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2 นี้ นาฏศิลปินเป็นหญิงของหลวงแสดงทั้งละครในและละครนอก ส่วนโขน ละคร ของเอกชนจะมีอยู่ในสำนักของท่านผู้ใดบ้างหาทราบไม่ โดยเหตุที่โขนและละครนอกเป็นการแสดงของศิลปินผู้ชาย มิได้อยู่ในข้อห้ามที่มีให้เอกชนมีได้ จึงยังคงจะฝึกหัดกันขึ้นหลายโรงเรียนเหมือนกัน หากแต่ยังไม่พบหลักฐานให้ทราบได้ในบัดนี้ 
               สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสเล่าไว้ว่า “แบบและละครที่ทรงขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 2 นั้นเป็นแต่เล่นละครหลวง ผู้อื่นหามีใครกล้าเอาอย่างของหลวงไปเล่นไม่ เจ้านายต่างกรม เป็นต้นว่า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ที่ปรากฏว่าทรงหัดแต่งิ้วผู้หญิง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโขนตามประเพณีเดิม พวกโขนข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ได้เกิดมีขึ้น ศิลปินผู้มีเกียรติอย่างสูงผู้หนึ่ง คือ ครูเกษ พระราม ซึ่งไดสืบต่อศิลปะทางโขนต่อมา โดยได้เป็นครูครอบโขน ละคร มาจนถึงรัชกาลที่ 4”
                สมัยรัชกาลที 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-2394) เล่ากันมาว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจการเล่นละคร พอเสวยราชย์ก็โปรดให้เลิกละครหลวงเสีย การเลิกละครหลวงครั้งนั้น เป็นเหตุให้เกิดคณะละครของเจ้านายและขุนนางขึ้นแพร่หลาย หลายคณะ หลายโรง และที่หัดละครผู้หญิงขึ้นโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตก็มี คณะละครที่เกิดขึ้น ผู้เรียบเรียงจะขอนำมากล่าวถึงเฉพาะละครที่มีบทและแบบอย่างศิลปะ ซึ่งศิลปินทางโขนละครจดจำและใช้เป็นแบบแผนสืบมา เช่น
               (1)ละครของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ เดิมใช้โขนหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี นายเกษ พระราม ข้าหลวงเดิมเป็นผู้ฝึกหัด
                (2)ละครกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (ต้นสกุล พนมวัน) เมื่อทรงเป็นกรมขุน ถือกันว่ากระบวนรำของละครโรงนี้ดีกว่าโรงละครอื่น ทรงมีละครอิเหนาฝีมือดีชื่อครูบัว ได้เป็นครูอิเหนาให้เจ้าจอมมารดาเขียนในรัชกาลที่ 4
                (3)ละครกรมหลวงรักษ์รณเรศ (ต้นสกุล พึ่งบุญ) แสดงละครอิเหนาในบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 มิได้เล่นตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาล 2 เหมือนโรงละครอื่น ตัวละครสำคัญโรงนี้ มีหลายคนที่ต่อมาไปเป็นครูละครที่โรงละครอื่น และไปตั้งโรงละครของตนเองก็มี 
               (4)ละครกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ (ต้นสกุล กุญชร) ทรงมีคณะละครมาตั้งแต่ยังทรงเป็นกรมหมื่นในรัชกาลที่ 3 และโปรดเลื่อนเป็นพระพิทักษ์เทเวศร์ในรัชกาลที่ 4 เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ พระโอรสทรงรับช่วงสืบมา
                (5)ละครกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (ต้นสกุล ทินกร) ทรงมีละครคณะฝึกหัดไว้ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระองค์เจ้าทินกร หัดตัวละครหลวงแต่โปรดทรงเรื่องละครนอก ได้ทรงนำเอาละครนอกของเก่ามาปรับปรุงแต่งขึ้นใหม่ในหลายเรื่อง แต่มีอยู่ 3 เรื่องที่นิยมนำมาแสดง คือ สุวรรณหงส์ แก้วหน้าม้า และนางกุลา
                (6)ละครเจ้าบดินทร์เดชา (ต้นสกุล สิงหเสนี) ท่านมีโขนอยู่ก่อน แล้วหัดโขนให้มาเล่นเป็นละครผู้ชาย ต่อมาจึงหัดละครผู้หญิงขึ้น สมเด็จพระหริรักษ์มาได้ละครในไปจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชา จึงได้มีละครในเกิดขึ้นในกรุงกัมพูชา
                (7)ละครของเจ้าจอมมารดาอัมพา แสดงละครนอกครั้งนั้นรัชกาลที่ 3 มีตัวนายโรงชื่อนายแสง ได้ออกไปเป็นละครหลวงสมเด็จพระเจ้านโรดม กรุงกัมพูชา
                (8) ละครเจ้ากรับ แสดงละครนอก มีผู้เขียนกลอนสดุดีไว้ว่า                “เจ้ากรับตั้วโผใหญ่ ได้มีชื่อลือกระฉ่อนละครไทย อายุเราเยาว์วัยไม่ได้ดู”
                สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า “ตัวละครผู้ชายเรียกกันว่าเจ้า ด้วยเหตุใดไม่ทราบได้ยินแต่เรียกกันว่า เจ้ากรับ ดังนี้มาแต่ไร เจ้ากรับเป็นตัวแทนรักษาแบบแผนละครนอกของครูบุญยังต่อมา ตัวละครของเจ้ากรับเป็นตัวละครผู้ชายทั้งสิ้น จนกระทั่งรัชกาลที่ 4 พระราชทานอนุญาตให้หัดละครผู้หญิง ข้างนอกวังกันได้ ในสมัยนี้เจ้ากรับก็พยายามหัดลูกหลานหญิงขึ้นมา หมายจะให้มีการผสมโรงเป็นละครผู้หญิง แต่พอหัดขึ้นมาได้มักจะมีข้าราชการบรรดาศักดิ์มาขอเอาไปเสีย เจ้ากรับก็เลยไม่ได้เล่นละครแบบผสมโรงผู้หญิง เจ้ากรับตายเมื่อ พ.ศ. 2409 บุตรเจ้ากรับชื่อ นายนวล ได้รับมรดกละครจากบิดา” 
               สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดทางดำเนินรัฐประศาสโนบาย ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่นับว่าสำคัญในวงการนาฏศิลป์และละครไทยหลายอย่าง เช่น                                      (1)โปรดให้มีละครหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลิกเสียนั้นขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2397 
               (2)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้น้อย และเอกชนฝึกหัดละครผู้หญิงได้เมื่อ พ.ศ. 2398 
               (3)โปรดให้ตั้งภาษีมหรสพขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันในสมัยนั้นว่า ภาษีโขนละคร เมื่อ พ.ศ. 2402 
               พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นหลายเรื่อง เช่น เรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง บทเบิกโรงเรื่องนารายณ์ปราบนนทุก เรื่องพระรามเข้าสวนพิราพ บทระบำและบทเบิกโรงรำต้นไม้เงินทอง เป็นต้น
                สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดสนับสนุนให้เจ้านายและเอกชน จัดตั้งคณะละครขึ้นมากมาย ดังนี้ 
               (1)ละครของพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ ท่านได้รับมรดกละครสืบมาจากกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ พระบิดา ปรากฏว่ามีตัวละครที่มีฝีดีในการรำ และได้แสดงในงานหลวงมากกว่าโรงละครอื่น แสดงละครนอก เช่น เรื่องอภัยมณีบางตอน เรื่องพระลอบางตอน สมัยต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงร่วมกับท่าเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ทรงคิดและปรับปรุงละครแบบใหม่ เรียกว่า ละครดึกดำบรรพ์
                (2)ละครของเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง (เพ็ญ เพ็ญสกุล) เริ่มแสดงละครแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และมาตั้งหลักฐานมั่นคงในรัชกาลที่ 5 เดิมเล่นเรื่องดาหลัง ต่อมาแสดงทั้งละครในและละครนอก ท่านเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรงสามารถยักเยื้องกระบวนรำ และการแต่งกายละครแตกต่างจากละครหลวง และมีชั้นเชิงศิลปะในการแสดงที่มีผู้นิยมแบบอย่างกันมาก ปรากฏว่าท่านมีบทละครในแต่งขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ท่านเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรง เป็นคนแรก เป็นคนแรกที่เริ่มเล่นละครประจำโรง และเก็บเงินผู้ชมละคร ตั้งชื่อโรงละครของท่านว่า “ปริ้นซ์เธียเตอร์”
                (3)ละครพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เสด็จในกรมได้ทรงฝึกหัดละครของพระองค์ขึ้นในปลายรัชกาลที่ 5 แสดงทั้งละครนอกและละครใน เดิมแสดงละครรำตั้งนามคณะว่า ละครหลวงนฤมิตร แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นแสดงละครร้อง ตั้งโรงละครขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวังที่แพร่งนรา เช่นเดียวกับเจ้าพระยามหินทร์สักดิ์ธำรง เรียกว่า ละครปรีดาลัย เป็นแบบละครร้องที่นิยมกันต่อมา
                ละครรำของท่านเจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรงทีปรับปรุงขึ้น แสดงเรื่องราชาธิราช และเรื่องขุนช้างขุนแผนบางตอน ละครรำของท่านเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ที่ปรับปรุงขึ้นแสดงเรื่องพระอภัยมณี พระลอบางตอน ขุนช้างขุนแผนบางตอน แบบของการปรับปรุงศิลปะในการแสดงละครนี้เรียกกันว่า “ละครพันทาง”
                สมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น พระองค์ทรงปรับปรุงแลละทำนุบำรุงศิลปะทางโขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี ทั้งทางมาตรฐานศิลปะและฐานะเดิมของศิลปิน จนกล่าวกันว่าเป็นสมัยที่ศิลปะทางโขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์รุ่งเรืองที่สุด จนมีคำเรียกโขนทางราชการของหลวงในรัชกาลที่ 6 ว่า “โขนบรรดาศักดิ์” คู่กับโขนเอกชนที่เรียกว่า “โขนเฉลยศักดิ์” และในระยะเดียวกัน ได้โปรดให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดศิลปะทางโขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์ขึ้นในกรมมหรสพอีกด้วย ครั้งแรกเรียกว่า “โรงเรียนทหารกระบี่หลวง” ต่อมาเป็น “โรงเรียนพรานหลวง” ทรงตั้งกองเสือป่าขึ้นในตอนแรก โปรดเกล้าฯ ให้บรรดาข้าราชการในกรมมหรสพเป็นเสือป่ากองพิเศษกองหนึ่ง เรียกว่า “ทหารกระบี่” กองทหารกระบี่นี้เป็นกองเสือป่าที่ถูกพระราชหฤทัย ทรงโปรดปรานมากกว่าเสือป่าเล่าอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุให้ประชาชนสนใจเลื่อมใสในศิลปะด้านโขน ละคร และดนตรีปี่พาทย์ของหลวง ซึ่งเป็นบุคคลในสังกัดทหารกระบี่หลวงนี้มากขึ้น มีผู้นำบุตรหลานมาฝากเป็นนักเรียนฝึกหัดในกรมมหรสพเป็นอันมาก
                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะได้พิจารณาเห็นด้วยพระปรีชาญาณอยู่แล้วว่า ไม่มีผู้มีศิลปวิทยาการทางไหน แม้จะสามารถเพียงไร ถ้าขาดการศึกษาในด้านสามัญ ย่อมเป็นทางนำมาซึ่งความต่ำทราม เป็นที่เหยียดหยามของคนทั่วไป เพราะฉะนั้น เมื่อสบโอกาสที่มีเด็กเล็กมาสมัครเป็นนักเรียนฝึกหัดในกรมมหรสพ ทางโขนบ้าง ละครบ้าง ปี่พาทย์บ้าง เครื่องสายฝรั่งบ้าง พระองค์จึงทรงถือโอกาสนี้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือขึ้นในบริเวณสวนมิสกวัน แยกเป็นส่วนราชการอีกหน่วยหนึ่ง เรียกว่า “กองโรงเรียนทหารกระบี่หลวง” ภายหลังเมื่อได้ทรงตั้งกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ขึ้น และยุบทหารกระบี่หลวง แล้วโอนข้าราชการกรมมหรสพที่เคยเป็นทหารกระบี่หลวงทั้งหมดมาเป็น “เสือป่าพรานหลวง ร.อ.” จึงพระราชทานนามโรงเรียนทหารกระบี่หลวงเดิม “โรงเรียนพรานหลวงในพระราชูปถัมภ์” ให้เด็กที่สมัครเข้าเรียนในกรมมหรสพสอนอย่างโรงเรียนสามัญทั่วไป แบ่งเป็น 6 ชั้น มีครูประจำชั้นตามสมควร
                ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงเป็นราชาแห่งศิลปิน และเทพเจ้าแห่งศิลปะ ได้ทรงอุปถัมภ์ศิลปินโขน ละครได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกแสดงหลายเรื่อง มีเรื่องพระร่วงหรือขอมดำดิน ท้าวแสนปม เรื่องศกุนตลา เป็นต้น
                สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีสภาได้ตกลงประชุมกันเลิกกรมมหรสพได้โปรดให้รวมกรมมหาดเล็กและกรมมหรสพเข้าอยู่ในกระทรวงวัง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ซึ่งทราบว่าต่อมาเสนาบดีกระทรวงวังในสมัยนั้น ได้วิธีการที่แยบคายแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยใช้วิธีปลดข้าราชการศิลปินเดิมในกรมมหรสพลงบ้าง ขอลดอัตราเงินเดือนลงเสียบ้าง เอาไปบรรจุไว้ในอัตราและตำแหน่งหน้าที่อื่นบ้าง จนรายจ่ายสมดุลกับงบประมาณ
                เป็นวิธีที่ช่วยให้ทางราชการสามารถชุบเลี้ยงศิลปินได้พอสมควร ต่อมาเมื่อมีความจำเป็นในราชการเกิดขึ้น ได้บรรจุพระยานัฎกานุรักษ์ ซึ่งได้ออกจากราชการไปแต่ต้นปี พ.ศ. 2469 กลับเข้ารับราชการกระทรวงวังในปลายปีนั้นอีก โดยให้มีตำแหน่งราชการเป็นผู้กำกับกรมปี่พาทย์และโขนหลวง และได้รวบรวมกุลบุตร กุลธิดาเข้าฝึกหัดศิลปะทางโขนและละครกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสามารถออกแสดงต้อนรับแขกเมืองและในงานสำคัญอันมีเกียรติหลายคราว กรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงกลับมีฐานะเป็นกองขึ้นในรัชกาลที่ 7 ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2478 ได้มีการปรับปรุงกระทรวงวังกันอีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมการได้เสนอไปยังรัฐบาล ให้โอนงานกองช่างวังนอกและกองมหรสพไปอยู่ในสังกัดกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2478 ข้าราชการศิลปินจึงย้ายสังกัดมาอยู่ในกรมศิลปากร
                ละครรำปัจจุบัน
                เดิมกรมศิลปากรได้จัดตั้ง “โรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์” ขึ้น เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ต่อมาได้รับโอนศิลปินทางโขน ละคร และนักดนตรีปี่พาทย์ พร้อมทั้งรับโอนเครื่องดนตรี และเครื่องโขน ละครของหลวง ซึ่งยังเหลือจากกระทรวงวัง มาสังกัดในกรมศิลปากร พ.ศ. 2478 ได้จัดตั้งงกองดุริยางคศิลป์ และกองโรงเรียนศิลปากรเพิ่มขึ้น กองดุริยางคศิลป์มีหน้าที่เกี่ยวกับงานศิลปะของแผนดุริยางค์ไทย และแผนกดุริยางค์สากล ส่วนกองโรงเรียนศิลปากรมีหน้าที่ทางโรงเรียน โดยแยกเป็นแผนกช่าง และแผนกนาฏดุริยางค์ โรงเรียนนาฏดุริยางค์เดิมของกรมศิลปากร จึงมีชื่อเรียกเฉพาะแผนกว่า “โรงเรียนศิลปากร แผนกดุริยางค์” ฝึกหัดสั่งสอนศิลปะทางด้านดนตรี ปี่พาทย์ ละครและระบำ มิได้รับฝึกหัดโขน ผลแห่งการศึกษาของโรงเรียนนี้ ได้รับการต้อนรับและเผยแพร่เป็นอย่างดี ครูและนักเรียนของโรงเรียนนี้ เคยนำนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ไปเผยแพร่ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2477 นักเรียนที่สำเร็จจากโรงเรียนไปแล้ว กำลังประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน และสร้างชื่อเสียงด้านศิลปะให้แพร่หลายมาจนทุกวันนี้ 
               ต่อมาเมื่อทางราชการได้ตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้น และแยกแผนก “แผนกช่าง” ไปขึ้นอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว กรมศิลปากรจึงปรับปรุงกิจการกองดุริยางคศิลป์เสียใหม่ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นกองการสังคีต เมื่อพ.ศ. 2485 แล้วเปลี่ยนชื่อโรงเรียนศิลปากร แผนกดุริยางค์เป็น “โรงเรียนสังคีตศิลป์” ขึ้นอยู่ในกองการสังคีต กรมศิลปากร ครั้นต่อมา รัฐบาลสมัยนายควง อภัยวงศ์ ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นักเรียนที่จะเข้ามารับการฝึกหัดเป็นนักเรียนโขน นักเรียนดุริยางค์สากล และดุริยางค์ไทย เป็นเงินปีละ 7,000 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 มา ซึ่งทางกองการสังคีตในเวลานั้นได้รับเด็กเข้าเป็นนักเรียนศิลปินสำรองและมีอัตราเงินเดือน แต่เนื่องจากอุปสรรคบางประกอบและภัยจากมหาสงคราม โรงเรียนนี้ไม่สามารถจัดการศึกษาให้มีระเบียบ และดำเนินไปในรูปที่ควรแก่การก้าวหน้าในด้านศิลปะ ตัวโรงเรียนถูกภัยจากระเบิดเสียหายมาตั้งแต่ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 แล้วภายหลังถูกยืมไปใช้ราชการอย่างอื่น จำเป็นต้องยุติการเรียนการสอนไปชั่วคราว ศิลปะทางโขนละคร ซึ่งทรุดโทรมอยู่แล้ว ครั้นในระยะนี้ก็ยิ่งทรุดโทรมลงไปอีกอย่างมากมายกว่าที่เป็นมา ตลอดเวลาที่โอนมาอยู่ในกรมศิลปากร ไม่เคยฝึกหัดศิลปินโขนละครเพิ่มเติม และศิลปะทางละครแบบโบราณ ก็ใช้พวกศิลปินเก่าแก่ที่รับโอนมาจากกระทรวงวัง เป็นผู้แสดง ต่อมาศิลปินเก่าเหล่านั้นก็ล้มหายตายจากไปบ้าง ออกไปประกอบอาชีพอื่นบ้าง ย้ายไปประจำตำแหน่งอื่นบ้าง คงมีศิลปินโขนละครที่รับโอนมาจากกระทรวงวังเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน
                ครั้นใกล้จะสิ้นสุดสงคราม รัฐบาลได้ส่งให้กรมศิลปากรแก้ไขปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนี้อีกครั้งหนึ่ง พ.ศ. 2488 กรมศิลปากรจึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนนี้ใหม่ว่า “โรงเรียนนาฏศิลป์” และตั้งวัตถุประสงค์สำคัญไว้ 3 ประการ คือ
                (1)เพื่อเป็นสถานศึกษานาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ของราชการ                
                (2)เพื่อบำรุงรักษาไว้และเผยแพร่นาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ประจำชาติ
                (3)เพื่อให้ศิลปินทางดนตรีและละครภายในประเทศมีฐานะ เป็นที่ยกย่องในนานาประเทศ
                พ.ศ. 2488 เปิดโรงเรียนขึ้นใหม่ มีนักเรียนเรียนละครเป็นผู้หญิงรวมทั้งสิ้น 33 คน โรงเรียนนาฏศิลป์จึงเปิดรับสมัครนักเรียนชายเข้าฝึกหัดโขน ครั้งแรกจำนวน 61 คน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ต่อมาถึงวันที่ 15 ธันวาคม ก็ได้บรรจุนักเรียนชายเข้าเป็นศิลปินสำรอง 55 คน มีอัตราเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 5 บาทต่อคน ตามกำลังเงินที่มีอยู่สวนอีก 6 คนก็คงรับไว้ฝึกหัดและตั้งอัตราเบี้ยเลี้ยงให้ภายหลัง เพราะยังมีศิลปินสำรองเก่าที่รับเบี้ยเลี้ยงอยู่แต่เดิมเหลืออยู่บ้าง ในระยะเดียวกันนั้น ได้ปรับปรุงงานศิลปะในแผนกอื่นๆ ของกรมการสังคีตไปพร้อมกันด้วย จึงมีข้าราชการศิลปินโขน ละครและดนตรี ที่ลาออกจากราชการไปแต่ก่อน กลับมาสมัครเข้ารับราชการอีกหลายคน และเมื่อมีตำแหน่งและอัตราเงินเดือนว่างลง ทางราชการของกรมศิลปากรก็บรรจุให้เข้ารับราชการต่อมา จึงกำหนดหน้าที่มอบหมายให้บรรดาครู อาจารย์และข้าราชการศิลปินโขนเหล่านั้น เร่งรัดฝึกหัดอบรมนักเรียนศิลปินสำรองที่รับไว้นั้นอย่างรีบเร่ง นับเป็นครั้งแรกของกรมศิลปากร ที่ได้รับนักเรียนเข้าฝึกหัดโขนอย่างจริงจัง และด้วยความร่วมมืออันดีของครู อาจารย์ ต่อมาไม่ช้านักเรียนเหล่านั้นก็สามารถออกร่วมแสดงได้หลายครั้ง ในงานต้อนรับแขกเมือง ผู้มีเกียรติของพระมหากษัตริย์และของข้าราชการ นับแต่แสดง ณ โรงละครในสวนศิวาลัย ในพระบรมมหาราชวัง 2 ครั้ง ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โปรดพระราชทานเลี้ยง ลอร์ดหลุย เมานต์ แบตเตน ซึ่งเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ภายหลังสันติภาพเมื่อพ.ศ. 2489 แสดงต้อนรับทหารสหประชาชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ในระยะนั้นอีกหลายครั้ง ต่อมาก็ได้จัดชุดแสดงให้ประชาชนชมในโรงละครศิลปากร ตั้งแต่วันที่ 7พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา  ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับจากประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก
                นอกจากนั้น กรมศิลปากรได้นำโขนและละครออกมาแสดงกลางแจ้งในงานรัฐพิธีหลายครั้ง จนดูประหนึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องจัดให้มีเป็นประจำปี เช่น แสดงโขน ณ ท้องสนามหลวงมี 3 คราว คือวันฉลองรัฐธรรมนูญ งานฉลองวันขึ้นปีใหม่ รัฐพิธีฉลองวันสงกรานต์ ตลอดจนงานอื่นๆ เคยจัดโขนบางชุดและละครบางเรื่องไปแสดง ณ นครย่างกุ้งในสหภาพพม่า สมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรับมนตรีและเป็นหัวหน้านำคณะทูตสันถวไมตรีไทยไปสหภาพพม่า เมื่อ พ.ศ. 2498 และเมื่อ พ.ศ. 2500 ฯพณฯ จอมพล เรืองหลวงยุทธศาสตร์โกศล ผู้บัญชาการทหารเรือและรับมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหัวหน้านำคณะทูตสันถวไมตรีไปเยี่ยมประเทศลาว และต่อจากนั้น ข้าราชการและนักเรียนนากศิลป์ได้เดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ในงานมหกรรมในต่างประเทศคำสั่งของรัฐบาล
                สำหรับภายในประเทศ เมื่อทางราชการจัดงานต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ ณ ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงกลาโหมติดต่อให้กรมศิลปากรจัดการแสดงนาฏศิลป์ไทยต้อนรับเป็นประจำ และเมื่อพระราชอาคันตุกะ เช่น สมเด็จพระจักรพรรดิ สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี ประธานาธิบดี และเจ้านายต่างประเทศ เสด็จมาเยือนประเทศไทยเป็นทางราชการ รัฐบาลไทยจะสั่งให้กรมศิลปากรจัดแสดงนาฏศิลป์ไทยถวายทอดพระเนตรและตอนรับทุกครั้ง
                ปัจจุบันนี้ โรงเรียนสอนนาฏศิลป์ได้เปิดสอนทั้งวิชาสามัญและวิชาศิลปะคู่กันไป ซึ่งแยกประเภทให้เรียนสาขาทางศิลปะหลายสาขา เป็นต้นว่า สาขานาฏศิลป์ไทย สาขานาฏศิลป์สากล สาขานาฏศิลป์โขน สาขาดุริยางค์ไทย สาขาเครื่องสายไทย สาขาคีตศิลป์ไทย และเปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียนนาฏศิลป์” เป็น “วิทยาลัยนาฏศิลป์”
                การละครสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงในทางการละครอยู่บ้าง มีละครแบบใหม่เกิดขึ้น คือ กำเนิดละครหลวงวิจิตรวาทการ เนื่องจากท่านหลวงวิจิตรวาทการ เป็นทั้งนักการทูตและนักประวัติศาสตร์ ท่านจึงมองเห็นคุณค่าทางการละคร ที่จะใช้เป็นสื่อปลุกใจให้ประชาชนเกิดความรักชาติ เนื้อหาจะนำมาจากประวัติสาสตร์ตอนใดตอนหนึ่ง บทละครของท่านจะมีทั้งรัก รบ อารมณ์ สะเทือนใจ ความรักที่มีต่อคู่รัก ถึงแม้จะมากมายเพียงไรแต่ก็ยังไม่เท่ากับความรักชาติ ตัวเอกของเรื่องจะเสียสละชีวิต และพลีชีพเพื่อชาติ ด้วยเหตุที่ละครของท่านไม่เหมือนการแสดงละครที่มีอยู่ก่อน คนทั้งหลายจึงเรียกละครของท่านว่า “ละครหลวงวิจิตรวาทการ” 
               ลักษณะละครหลวงวิจิตรวาทการ สรุปได้ดังนี้
(1)แนวคิดของเรื่อง ปลุกใจให้รักชาติ ให้แง่คิดในด้านปรัชญา คุณธรรม สร้างพลังสามัคคี ยึดมั่นในชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์
(2)ลักษณะการแสดง บางเรื่องมีลักษณะเป็นละครรำ เช่นเรื่องราชธิดาพระร่วง บางเรื่องมีลักษณะเป็นละครพันทาง เช่นเรื่องเจ้าหญิงแสนหวี เป็นต้น ฉะนั้น ละครของท่านมีทั้งรพ ร้องเพลงทั้งไทยและสากล บางเรื่องผู้แสดงร้องเอง
(3)ดนตรีประกอบการแสดง ใช้ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล
(4)ฉาก จัดฉากหรูหราตามท้องเรื่อง นิยมมีการแสดงระบำสลับฉาก
(5)ตัวละคร ใช้ชายจริงหญิงแท้ ตัวประกอบที่เป็นระบำจะมีจำนวนมาก และการแสดงฉากสุดท้ายตัวละครทุกตัวจะต้องออกแสดงหมดละครหลวงวิจิตรวาทการมีลักษณะแปลก คือ จะเชิญชวนให้ผู้ชมร้องเพลงในละครเรื่องนั้น ซึ่งเนื้อเพลงมีคติสอนใจ ปลุกใจให้รักชาติ จึงเป็นละครที่มีผู้นิยมมาก และใครๆ ที่ได้ชมละครของท่าน จะได้รับแจกเนื้อเพลงจนสามารถนำมาร้องให้ลูกหลานฟังได้ในสมัยต่อมาหลวงวิจิตรวาทการแต่งละครไว้หลายเรื่อง ได้แก่
(1)    ราชธิดาพระร่วง     (2)    เลือดสุพรรณ       (3)    เจ้าหญิงแสนหวี
(4)    พระมหาเทวี   (5)    พระเจ้ากรุงธน     (6)    ศึกถลาง   (7)    อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง
(8)    อานุภาพแห่งความรัก  (9)    อานุภาพแห่งความเสียสละ   (10)อานุภาพแห่งศีลสัตย์
             ละครเอกชน มีโรงละครที่มีชื่ออีกโรงหนึ่ง คือ ละครจันทโรภาส มีความสำคัญอยู่ประการหนึ่งคือ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพลง นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเปลี่ยนจากเพลงไทยเดิมมาเป็นเพลงสากล ละครคณะนี้มีคนสำคัญที่เป็นผู้เขียนเรื่อง คือ พรานบูรพ์ เราอาจจะเรียกได้ว่า ละครจันทโรภาสของนายจวงจันทร์ จันทรคณา (พรานบูรพ์) สิ่งหนึ่งที่พรานบูรพ์ทำเป็นหลัก คือ ปรับปรุงจากเพลงไทยเดิมที่มีทำนองเอื้อน มาเป็นเพลงไทยสากลที่ไม่มีทำนองเอื้อน เกือบจะเรียกได้ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ทำให้เกิดเพลงไทยสากลพรานบูรพ์ได้เขียนบทละครไว้หลายเรื่อง ละครเรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังคือ เรื่องจันทร์เจ้าขา พรานบูรพ์นำเรื่องสาวเครือฟ้า ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มาทำเป็นละครร้องใหม่ เรียกตามภาษาญี่ปุ่นว่า โจ๊ะโจ้ซัง และมีเรื่องฝนสั่งฟ้า คืนหนึ่งยังจำได้ เป็นต้นต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์ฉายไม่ได้ ละครอาชีพเลยถือโอกาสแสดงกันมากมายหลายคณะ เป็นประเภทเล่นเรื่องตลกๆ เรียก “ละครย่อย” เล่นเป็นเรื่องแต่ไม่ได้ฝึกซ้อม เช่น คณะเฉลิม บุญยเกียรติ
              สนิท  เกษธนัง ผล วรศิรนอีกท่านหนึ่งที่มีเชื้อสายบรมครูทางศิลปินที่สำคัญคือ พระนางเธอลักษมีลาวัณ เป้นิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนำเรื่องเก่าๆ มาแสดง เช่น เรื่องศรีธนชัย ของ น.ม.ส. กับเรื่อง จินตะลีลา เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีคณะละครที่มีชื่อ คือ คณะศิวารมณ์ คณะนี้ได้จัดการแสดงในระหว่างสงครามอย่างจริงจัง ตัวละครสำคัญๆ ของละครคณะนี้ยังมีชีวิตอยู่โดยมาก แต่ได้หันไปแสดงละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อนึ่งท่านพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อออกจากราชการแล้ว ท่านตั้งคณะละครของท่านขึ้นชื่อ คณะวิจิตรเกษม ได้แสดงให้แก่ประชาชนชมหลายเรื่องปัจจุบันมีคณะละครสมัครเล่นอยู่บ้าง ได้แก่-ละครคณะศิวารมณ์-ละครคณะศรีอยุธยารมณ์-ละครคณะผกาวลี-ละครคณะสมัครเล่นของคุณหญิงดุษฎี มาลากุล-ละครคณะเฉลิมศาสตร์-ละครสมัครเล่นของคุณหญิงประภาพรรณ วิจิตรวาทการ ฯลฯ


ที่มา : (การละครไทย 2537:95-112)

3 ความคิดเห็น:

ประเภทของละคร

ประเภทของละคร ส่วนด้านเกี่ยวกับตำนานนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงจากหลักการทาง...